บทความ

สถานะทางกฎหมายของโดเมนเนมในประเทศไทย

on มีนาคม 29, 2021        by Administrator

      สถานะทางกฎหมายมีความสำคัญอย่างยิ่งในเรื่องของผลในทางกฎหมายและแนวทางการคุ้มครองในทางกฎหมาย เช่น การโอนโดเมนเนมจากผู้ประกอบการรายหนึ่งไปยังผู้ประกอบการอีกรายหนึ่งนั้นเป็นการโอนทรัพย์สินหรือเป็นการโอนสิทธิเรียกร้องตามกฎหมาย? การดำเนินคดีละเมิดนั้นเป็นการละเมิดสิทธิในทางทรัพย์สินหรือว่าเป็นการละเมิดสิทธิเรียกร้องตามกฎหมายลักษณะหนี้ เนื่องจากประเด็นต่าง ๆ เหล่านี้นั้นส่งผลต่อเรื่องของอำนาจฟ้องและเขตอำนาจศาลในการดำเนินคดีทั้งสิ้น

ปัญหาที่พบเจอบ่อยครั้งและเป็นกรณีพิพาท คือ การนำเอา “ชื่อ” ของผู้ประกอบการอื่น รวมถึงการนำเอา “ชื่อเครื่องหมายการค้า” ของผู้ประกอบการอื่นมาจดทะเบียนเป็นโดเมนเนมโดยไม่สุจริต ทั้งในโดเมนเนมระดับสากลและในโดเมนเนมระดับประเทศ

ถ้าเป็นกรณีของการนำเอาชื่อทางการค้าหรือเครื่องหมายการค้าของผู้อื่นไปใช้จดทะเบียนโดเมนเนมในระดับสากลนั้น การระงับข้อพิพาทสามารถดำเนินการโดยองค์กรภายใต้การกำกับดูแลของ The Internet Corporation for Assigned Names and Numbers (ICANN)[1] ที่มีชื่อว่า Uniform Domain Name Dispute Resolution (UDRP)[2] เช่น ถ้ามีผู้ที่ไม่สุจริตได้นำเอาชื่อโดเมนเนมของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในชื่อ www.thammasat.edu ซึ่งสามารถจดทะเบียนได้ในลักษณะของ Generic top-level domain (gTLD) โดยเอาไปจดทะเบียนในลักษณะที่คล้ายกันในชื่อ www.thammsatTU.edu หรืออาจจะจดทะเบียนโดเมนเนมภายใต้ gTLD สกุลอื่น เช่น .org, .com ฯลฯ

แต่ถ้าเป็นการละเมิดโดยการนำเอาชื่อทางการค้าของผู้ประกอบการรายอื่นมาใช้โดยไม่สุจริตหรือการนำเอาชื่อของเครื่องหมายการค้าของผู้ประกอบการรายอื่นมาใช้โดยไม่สุจริตในการจดทะเบียนโดเมนเนมระดับประเทศหรือที่เราเรียกว่า ccTLD (Country code top-level domain) เช่น นาย ก ซึ่งประกอบธุรกิจอยู่ในประเทศไทยเกิดเห็นว่าบริษัท Google จำกัด เป็นนิติบุคคลที่มีชื่อเสียงในระดับสากลและเกิดเจตนาไม่สุจริตจึงนำชื่อของนิติบุคคลดังกล่าวมายื่นขอจดทะเบียนชื่อโดเมนเนมในประเทศไทยโดยเพิ่มคำบางคำลงไป

เพื่อให้สามารถจดทะเบียนได้ เช่น www.googlethaii.co.th เมื่อเกิดกรณีพิพาทดังกล่าวจึงต้องนำกฎหมายที่เกี่ยวข้องมาพิจารณา ดังนี้

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 18

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1115

ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 272

เมื่อพิจารณาจากบทบัญญัติทั้งสามมาตราที่กล่าวมาจะพบว่า การดำเนินคดีกับผู้ที่ไม่สุจริตในการนำเอาชื่อของบุคคลหรือชื่อของนิติบุคคลไปใช้ในลักษณะของโดเมนเนมนั้นมีข้อจำกัดในการดำเนินคดีอยู่หลายประการ ดังต่อไปนี้

(ก) การดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 18 และมาตรา 1115 นั้นถูกจำกัดเฉพาะการนำเอาชื่อของบุคคลหรือนิติบุคคลไปใช้โดยไม่สุจริต ดังนั้น ถ้ามีการนำเอาชื่อผลิตภัณฑ์ สินค้า หรือบริการของนิติบุคคล หรือของผู้ประกอบการรายใดรายหนึ่งที่ไม่ได้เป็นการนำเอาชื่อของบุคคลหรือนิติบุคคลไปใช้ ย่อมไม่สามารถดำเนินคดีได้ แต่เมื่อเกิดปัญหาดังกล่าวก็จะต้องย้อนกลับไปพิจารณาพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าฯ ประกอบด้วย ดั่งจะได้อธิบายต่อไป

(ข) การดำเนินการของผู้ที่ไม่สุจริตในการนำเอาชื่อของบุคคลอื่นไปจดทะเบียนเป็นโดเมนเนมในประเทศไทยนั้นสามารถทำได้โดยง่ายและรวดเร็ว ยกตัวอย่างเช่น การนำเอาชื่อนิติบุคคลของผู้อื่นที่มีชื่อเสียงไปเพิ่มเติมข้อความเพียงไม่กี่ตัวอักษรและนำไปจดทะเบียนเป็นชื่อนิติบุคคลโดยไม่สุจริต ที่เรียกว่า “Cybersquat” สามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็วเมื่อเทียบกับกระบวนการในการดำเนินคดีฟ้องร้องผู้ที่ไม่สุจริต นอกจากการดำเนินการของผู้ที่ประกอบกิจการโดยไม่สุจริตจะสามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็วแล้ว ยังมีต้นทุนในการดำเนินการที่น้อยกว่าเมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายในการดำเนินการของฝ่ายผู้เสียหายในการเตรียมคดีและดำเนินคดี        

(ค) การดำเนินคดีอาญาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 272 นั้นมีข้อจำกัดเนื่องจากบทบัญญัติใน (1) บัญญัติว่า “ผู้ใดเอาชื่อ รูป รอยประดิษฐ์หรือข้อความใด ๆ ในการประกอบการค้าของผู้อื่นมาใช้หรือทำให้ปรากฏที่สินค้า หีบห่อ วัตถุที่ใช้หุ้มห่อ แจ้งความ รายการแสดงราคาจดหมายเกี่ยวกับการค้าหรือสิ่งอื่นทำนองเดียวกัน…” ซึ่งเมื่อพิจารณาตีความบทบัญญัติดังกล่าวแล้วก็ไม่น่าจะตีความไปถึงการนำเอาไปใช้ในลักษณะของโดเมนเนมได้

อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาบทบัญญัติมาตรา 272 (3) ซึ่งบัญญัติว่า “ผู้ใดไขข่าวแพร่หลายซึ่งข้อความเท็จเพื่อสร้างความเชื่อถือในสถานที่การค้าของผู้หนึ่งผู้ใดโดยมุ่งประโยชน์แก่การค้าของตน” มีข้อสังเกตว่าน่าจะสามารถตีความได้ว่าโดเมนเนมนั้นเป็น “สถานที่การค้า” ทั้งนี้ การตีความในลักษณะนี้อาจจะถูกโต้แย้งได้ว่าไม่อาจใช้ในการดำเนินคดีอาญา เพราะกฎหมายอาญาต้องตีความโดยเคร่งครัดและการตีความว่าโดเมนเนมนั้นเป็นสถานที่การค้าก็อาจจะดูเป็นการขยายความมากจนเกินไปและไม่ตรงกับวัตถุประสงค์ในการใช้โดเมนเนมในทางปฏิบัติ

นอกจากประเด็นปัญหาในเรื่องของการนำเอาชื่อบุคคลหรือนิติบุคคลของผู้อื่นมาใช้ในการจดทะเบียนโดเมนเนมแล้ว ปัญหาในเรื่องของการนำเอา “ชื่อเครื่องหมายการค้า” ของผู้อื่นมาจดทะเบียนโดเมนเนมโดยไม่สุจริต ก็เป็นเรื่องที่จะต้องนำมาพิจารณาเป็นประเด็นสำคัญในกรอบของกฎหมายไทย ในประเด็นดังกล่าวนี้จะต้องได้ข้อสรุปเสียก่อนว่าโดเมนเนมนั้นมีสถานะทางกฎหมายเป็นทรัพย์สินตามระบบกฎหมายไทยหรือไม่

อนึ่ง แม้ว่าในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ 4 ลักษณะทรัพย์สิน จะมิได้มีบทใดที่สามารถตีความได้ว่าโดเมนเนมนั้นมีสถานะทางกฎหมายเป็นทรัพย์สินในระบบกฎหมายไทย แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1298 บัญญัติเอาไว้ว่า “ทรัพย์สินทั้งหลายนั้นท่านว่าจะก่อตั้งขึ้นได้แต่ด้วยอาศัยอำนาจในประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่น” ดังนั้น ในเบื้องต้นอาจจะต้องนำเอากฎหมายอื่นที่มีความใกล้เคียงกับการคุ้มครองโดเมนเนมซึ่งในที่นี้น่าจะหมายถึงการพิจารณากฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาประเภทต่าง ๆ โดยกฎหมายที่น่าจะถูกนำมาพิจารณาในประเด็นนี้ คือ พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534

พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้ามาตรา 4 ได้ให้นิยามของคำว่า “เครื่องหมาย” หมายความว่า “ภาพถ่าย ภาพวาด ภาพประดิษฐ์ ตรา ชื่อ คำข้อความ ตัวหนังสือ” และในบทบัญญัติมาตราเดียวกันได้ให้นิยามของคำว่า “เครื่องหมายการค้า” หมายความว่า “เครื่องหมายที่ใช้หรือจะใช้เป็นที่หมายหรือเกี่ยวข้องกับสินค้าเพื่อแสดงว่าสินค้าที่ใช้เครื่องหมายของเจ้าของเครื่องหมายการค้านั้นแตกต่างกับสินค้าที่ใช้กับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่น” ดังนั้น โดยสรุปแล้วจะเห็นได้ว่าการนำเอาคำหรือข้อความหรือตัวหนังสือมาใช้ในการจดทะเบียนโดเมนเนมนั้นอาจถูกพิจารณาเป็น “เครื่องหมาย” ในความหมายของมาตรา 4 ได้ตามบทนิยามของกฎหมาย

อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาจากนิยามของคำว่า “เครื่องหมายการค้า” ซึ่งเมื่อตีความในทางกฎหมายก็จะพบว่าต้องเป็นการใช้หรือจะใช้เป็นที่หมายหรือเกี่ยวข้องกับสินค้าเท่านั้น ซึ่งในกรณีนี้เราจะสามารถตีความได้หรือไม่ว่าการนำชื่อโดเมนเนมมาใช้ในระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตนั้นเป็นการใช้เกี่ยวกับสินค้าเท่านั้น? ประเด็นดังกล่าวนี้ผู้เขียนมีความเห็นที่แตกต่างและไม่เห็นด้วยกับการตีความให้ถือว่าเป็นการละเมิดเครื่องหมายการค้าด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้

(ก) วัตถุประสงค์หลักของการสร้างระบบโดเมนเนมไม่ได้เป็นไปในลักษณะที่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ในการคุ้มครองกฎหมายเครื่องหมายการค้า เพราะวัตถุประสงค์ของกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับโดเมนเนมนั้นเป็นไปเพื่อการระบุหาที่อยู่หรือสถานที่หรือภูมิลำเนาของผู้ใช้อินเทอร์เน็ต แต่ก็อาจจะสามารถคิดไปได้ว่าวัตถุประสงค์ขั้นรองของโดเมนเนมนั้นมีขึ้นเพื่อให้ผู้บริโภคหรือในที่นี้หมายถึงผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตสามารถทราบได้ถึงสินค้าและบริการของผู้จดทะเบียนโดเมนเนม

แต่เหตุผลดังกล่าวนี้ก็ยังขาดความชัดเจนอยู่มากเนื่องจากการจดทะเบียนโดเมนเนมนั้น ผู้ขอจดทะเบียนจะต้องดำเนินการตามข้อตกลงกับทางนายทะเบียนที่มีชื่อเรียกว่า “นโยบายการจดทะเบียน กระบวนการและแนวปฏิบัติ” (Registration policies) ซึ่งต่อไปนี้ขอเรียกว่า “นโยบายฯ” และนายทะเบียนผู้รับจดทะเบียนโดเมนเนมในประเทศต่าง ๆ เป็นผู้มีอำนาจในการกำหนดสาระสำคัญของนโยบายฯ

(ข) “นโยบายฯ” เป็นข้อตกลงเบื้องต้นในลักษณะของนิติกรรมสัญญาตามกฎหมายไทยที่ตัวผู้ขอจดทะเบียนจะต้องตกลงยินยอมก่อนที่จะเริ่มใช้บริการจากนายทะเบียน เนื้อหาสาระของนโยบายนั้นแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับนายทะเบียนที่รับมอบอำนาจจาก ICANN ในแต่ละประเทศ ถึงแม้ว่านโยบายฯ ในแต่ละประเทศนั้นมีความแตกต่างกันก็ตาม นโยบายที่กำหนดสาระสำคัญนั้นมีกฎเกณฑ์อันเป็นมาตรฐานขั้นต่ำที่เหมือนกันซึ่งถูกกำหนดโดย The Country Code Names Supporting Organization (CCNSO)[3]

มาตรฐานขั้นต่ำที่ถูกกำหนดเป็นกฎเกณฑ์ในการยื่นจดทะเบียน คือ เรื่องการนำชื่อใดก็ตามมาใช้ในการจดทะเบียนชื่อโดเมนเนมต้องไม่ขัดต่อกฎหมายระหว่างประเทศต่าง ๆ ยกตัวอย่างเช่น อนุสัญญากรุงปารีสว่าด้วยการคุ้มครองทรัพย์สินอุตสาหกรรม ฉบับลงวันที่ 20 มีนาคม ค.ศ. 1883 มาตรา 6 ter (1)(a) ได้ห้ามมิให้นำเอาชื่อของรัฐต่างประเทศหรือธงชาติมาใช้จดทะเบียนเป็นเครื่องหมายการค้า ดังนั้น การนำชื่อของรัฐต่าง ๆ มาขอจดทะเบียนเป็นชื่อโดเมนเนมจึงไม่สามารถทำได้ จากกรณีนี้เราจะเห็นได้ว่ามีบางเรื่องที่การยื่นจดทะเบียนโดเมนเนมนั้นสอดคล้องกับการยื่นจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า

นอกจากนี้ กฎเกณฑ์อันเป็นมาตรฐานขั้นต่ำยังรวมถึงการห้ามจดทะเบียนชื่อโดเมนเนมที่ขัดกับกฎหมายของภูมิภาคหรือกฎหมายของประเทศต่าง ๆ เช่น การห้ามจดทะเบียนชื่อโดเมนเนมในคำสามัญบางคำที่เป็นสมบัติของชาติ โดยกฎของสหภาพยุโรปที่ 874/2004[4] มาตรา 8 ซึ่งเรื่องนี้เคยเกิดขึ้นเมื่อมีการยื่นจดทะเบียนโดเมนเนมโดยใช้คำว่า “FR” หรือ “France” หรือ “République Française” หรือกรณีของการนำเอาชื่อสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ที่ได้รับการจดทะเบียนไว้มาใช้เป็นชื่อโดเมนเนม หรือการนำเอาชื่อของบุคคลสำคัญของรัฐ เช่น ประมุขของรัฐมาจดทะเบียนเป็นชื่อโดเมนเนม หรือมีการยื่นจดทะเบียนชื่อโดเมนเนมโดยใช้ชื่อที่สอดคล้องกับทรัพย์สินทางปัญญาประเภทใดประเภทหนึ่ง ผู้ขอจดทะเบียนจะต้องแสดงหลักฐานเพื่อยืนยันว่าผู้ขอจดทะเบียนนั้นเป็นเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญาดังกล่าวหรือได้รับมอบอำนาจตามกฎหมายด้วยถึงจะทำการจดทะเบียนเป็นชื่อโดเมนเนมได้

ปัจจุบัน ปัญหาจำนวนมากได้หมดสิ้นไป เนื่องจากนโยบายการจดทะเบียนของนายทะเบียนแต่ละประเทศนั้นได้มีการทำภาคผนวกเอาไว้ซึ่งระบุถึงชื่อที่ถูกห้ามไม่ให้มีการจดทะเบียน[5]

(ค) เมื่อนโยบายฯ มีลักษณะเป็นนิติกรรมสัญญาตามกฎหมาย และปัจจุบันยังไม่มีการออกกฎหมายพิเศษเพื่อมารับรองสถานะทางกฎหมายของโดเมนเนมในประเทศไทย ดังนั้น โดเมนเนมจึงไม่ได้มีลักษณะเป็นทรัพย์สินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือมีลักษณะเป็นกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา                      การโอนไปซึ่งชื่อโดเมนเนมจากผู้ประกอบการที่เป็นเจ้าของจะต้องดำเนินการในลักษณะของการโอนสิทธิเรียกร้องตามกฎหมายลักษณะหนี้ มาตรา 303 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และเมื่อมีการนำเอาชื่อของผู้อื่นไปใช้โดยไม่สุจริตในการจดทะเบียนชื่อโดเมนเนมในประเทศไทย ก็เป็นการที่บุคคลดังกล่าวยื่นจดทะเบียนชื่อโดเมนเนมโดยขัดต่อเนื้อหาของนโยบายซึ่งเป็นไปตามหลักนิติกรรมสัญญา ดังนั้น การดำเนินคดีของผู้มีส่วนได้เสียจึงต้องดำเนินการผ่านทางพระราชบัญญัติความรับผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฯ ในเรื่องของหน้าที่ของผู้ให้บริการเครือข่าย (Internet Service Provider)

เมื่อสถานะทางกฎหมายของโดเมนเนมในประเทศไทยเป็นเรื่องนิติกรรมสัญญา การคุ้มครองเครื่องหมายการค้าที่ถูกนำเอามาใช้จดทะเบียนเป็นโดเมนเนมจึงเป็นเรื่องที่ซับซ้อนและยากต่อการคุ้มครอง โดยมีประเด็นที่เป็นปัญหาดังต่อไปนี้

(ก) กรณีที่มีการละเมิดเครื่องหมายการค้าเกิดขึ้นกับโดเมนเนมที่มีชื่อโดเมนเนมในระดับสากล ผู้มีส่วนได้เสียสามารถดำเนินการให้นำเอาชื่อโดเมนเนมดังกล่าวออกจากระบบการจดทะเบียนได้ผ่านทาง UDRP แต่การเรียกค่าเสียหายในทางแพ่งหรือการดำเนินคดีอาญานั้นจะต้องขึ้นอยู่กับประเทศที่มีกฎหมายคุ้มครองการบังคับสิทธิในเรื่องดังกล่าวด้วย แต่ในความเป็นจริงแล้วยังมีอีกหลายประเทศที่มิได้มีกฎหมายรับรองการบังคับสิทธิในเรื่องดังกล่าว ซึ่งรวมถึงประเทศไทยด้วย ดังนั้น ผู้มีส่วนได้เสียจึงดำเนินการได้อย่างมีข้อจำกัด

(ข) กรณีที่มีการละเมิดเครื่องหมายการค้าโดยผู้ละเมิดนำเอาเครื่องหมายการค้าดังกล่าวมาจดทะเบียนชื่อโดเมนเนมระดับประเทศ ซึ่งในที่นี้จะต้องผ่านกระบวนการจดทะเบียนผ่านนายทะเบียนของแต่ละประเทศและทำตามเงื่อนไขของนโยบายฯ ซึ่งเป็นการคุ้มครองทางกฎหมายนิติกรรมสัญญาซึ่งมีคู่สัญญาเป็นนายทะเบียนและผู้ยื่นขอจดชื่อโดเมนเนม

การดำเนินคดีดังกล่าวจะเกิดปัญหากับผู้มีส่วนได้เสียทั้งในเรื่องของการร้องขอข้อมูลเพื่อใช้ในการดำเนินคดีไม่ว่าจะเป็นคดีแพ่งหรือคดีอาญา เนื่องจากข้อมูลดังกล่าวนั้นจะอยู่กับนายทะเบียนของแต่ละประเทศซึ่งนายทะเบียนอาจจะยินยอมหรือไม่ยินยอมให้ข้อมูลเพื่อไปดำเนินคดีก็ได้ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับกฎหมายอื่นที่กำหนดสิทธิหน้าที่ของนายทะเบียนในลักษณะของผู้ให้บริการเครือข่าย (Internet service provider) และนายทะเบียนอาจปฏิเสธไม่ให้ข้อมูลดังกล่าวก็ได้ เนื่องจากมีกฎหมายอื่นกำหนดหน้าที่ของนายทะเบียนเอาไว้ เช่น กรณีที่ THNIC[6] ซึ่งเป็นนายทะเบียนในการจดทะเบียนชื่อโดเมนเนมระดับประเทศไทย ปรากฏว่ามีผู้ไม่สุจริตนำเอาชื่อโดเมนเนมของผู้อื่นมาจดทะเบียนในประเทศไทยภายใต้ชื่อ www.tu.co.th ซึ่งชื่อดังกล่าวนี้อาจจะเป็นชื่อเครื่องหมายการค้าในต่างประเทศที่ได้รับการจดทะเบียนไว้แล้ว ข้อมูลที่ผู้มีส่วนได้เสียร้องขอจากนายทะเบียนอาจจะเป็นชื่อที่อยู่และภูมิลำเนาของนิติบุคคลหรือบุคคลธรรมดาที่ยื่นจดทะเบียนซึ่งนายทะเบียนนั้นมีหน้าที่ต้องรักษาข้อมูลที่มีลักษณะเป็นข้อมูลส่วนบุคคลตามพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลในเวลาเดียวกัน

ดังนั้น ในทางปฏิบัติอาจจะเกิดปัญหาความขัดแย้งระหว่างสิทธิหน้าที่ตามกฎหมายของผู้ให้บริการเครือข่ายที่เกิดจากกฎหมายคนละฉบับกันและส่งผลให้นายทะเบียนนั้นไม่ยินยอมให้ข้อมูล หรือให้ข้อมูลเพียงเท่าที่จำเป็นเท่านั้น นอกจากนี้ นายทะเบียนกับผู้ยื่นคำขอจดทะเบียนชื่อโดเมนเนมก็มีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมายนิติกรรมสัญญาด้วย และอาจจะถูกผู้ยื่นคำขอจดทะเบียนโดเมนเนมฟ้องร้องคดีได้เช่นกันถ้ามิได้ปฏิบัติตามข้อตกลงที่สัญญาไว้ อย่างไรก็ดี นายทะเบียนก็สามารถดำเนินการได้โดยอ้างถึงข้อตกลงที่ปรากฏในนโยบายฯ และข้อตกลงที่เป็นมาตรฐานขั้นต่ำในทางนโยบายก็ได้ว่ามีการกำหนดหน้าที่ของนายทะเบียนเมื่อตรวจพบว่ามีการนำเอาเครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียนของผู้อื่นหรือทรัพย์สินทางปัญญาของผู้อื่นมาจดทะเบียนเป็นชื่อโดเมนเนมโดยมิชอบได้

(ค) แม้ว่าจะได้มีการกำหนดเป็นข้อตกลงเอาไว้ในนโยบายฯ เกี่ยวกับการนำเอา “เครื่องหมายการค้า” ของบุคคลอื่นมาใช้โดยไม่สุจริตหรือการนำเอา “ทรัพย์สินทางปัญญา” ของผู้อื่นมาจดทะเบียนเป็นชื่อโดเมนเนมโดยไม่สุจริต แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นกับนายทะเบียนในกรณีของโดเมนเนมในระดับประเทศ คือ ระบบการจดชื่อโดเมนเนมในระดับประเทศนั้นมิได้มีฐานข้อมูลที่ใช้ในการตรวจสอบและอ้างอิงในลักษณะเดียวกันกับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของกรมทรัพย์สินทางปัญญา หมายความว่า ข้อมูลสองชุดอาจจะตรงกันหรือไม่ก็ได้

ดังนั้น การกล่าวอ้างพยานหลักฐานต่าง ๆ ของผู้มีส่วนได้เสียจึงยากต่อการตรวจสอบของนายทะเบียนโดเมนเนมในระดับประเทศ และปัญหาการอ้างพยานหลักฐานที่แสดงถึงการเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าหรือผู้รับมอบอำนาจซึ่งจะก่อให้เกิดอำนาจฟ้องในประเทศไทย เนื่องจากแนวทางปฏิบัติของแต่ละประเทศนั้นแตกต่างกันออกไปในการรับรองเอกสารที่ถูกต้อง ปัญหาดังกล่าวส่งผลโดยตรงต่อนายทะเบียนผู้รับจดทะเบียนโดเมนเนมในระดับประเทศในการยอมรับเอกสารต่าง ๆ ที่เป็นพยานหลักฐาน เนื่องจากนายทะเบียนฯ มิได้เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ดำเนินการตามกฎหมาย แต่เป็นคู่สัญญาของผู้นำชื่อมาจดทะเบียนเป็นชื่อโดเมนเนมเท่านั้น

นอกจากปัญหาต่าง ๆ ที่ผู้เขียนได้กล่าวมาแล้ว ปัญหาในเรื่องของเขตอำนาจศาลในการดำเนินคดีหรือปัญหาเรื่องของการบังคับคดีก็เป็นปัญหาที่ยังไม่เป็นข้อยุติ การดำเนินคดีและการบังคับคดีทรัพย์สินทางปัญญาในอนาคตจึงเป็นเรื่องที่มีประเด็นใหม่มากมายและนักกฎหมายในอนาคตคงต้องหาแนวทางที่เหมาะสมต่อไป

บทความโดย รศ.ดร.ภูมินทร์ บุตรอินทร์ และ คุณคานน เที่ยงตรง

_________________________________________________________________________________________________

[1] ICANN, accessed 23 March 2021, from https://www.icann.org/

[2] ICANN, “Uniform Domain Name Dispute Resolution Policy,” accessed 23 March 2021, from https://www.icann.org/resources/pages/policy-2012-02-25-en

[3] CCNSO, accessed 23 March 2021, from https://ccnso.icann.org/en

[4] Official Journal of the European Union, “Commission Regulation (EC) No 874/2004 of 28 April 2004 laying down public policy rules concerning the implementation and functions of the .eu Top Level Domain and the principles governing registration,” from https://eur-lex.europa.eu/legal-content/EN/ALL/?uri=CELEX%3A32004R0874

[5] Cédric Manara, Le droit des noms de domaine, (Paris: LexisNexis, 2012), pp. 54-64.

[6] THNIC, accessed 23 March 2021, from https://www.thnic.co.th/

Share :

THNIC Facebook Page

Member of

โครงการของมูลนิธิ