แนวทางกำกับดูแลเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ในประเทศไทย
ผู้เขียน รศ.ดร. ภูมินทร์ บุตรอินทร์ และ นายศิรวัฒน์ ไชยบาง
ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence, AI) เป็นเทคโนโลยีที่ริเริ่มคิดค้นมานานแล้ว แต่ด้วยเทคโนโลยีในสมัยก่อนทำให้ส่วนใหญ่เป็นเพียงแนวคิดที่เอาไว้ศึกษาต่อไปในภายภาคหน้าเท่านั้น แต่ในปัจจุบัน เทคโนโลยีพัฒนาจนก้าวหน้ามากพอที่จะพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ให้ก้าวหน้าอย่างรวดเร็วและคาดเดาได้ยาก และมนุษย์นำปัญญาประดิษฐ์ไปใช้ในส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันมากขึ้นอย่างรวดเร็ว
ปัญญาประดิษฐ์แบ่งออกได้เป็นหลายประเภท ขึ้นอยู่กับหลักต่างๆ ซึ่งช่วยแบ่งแยกชนิด ระดับความสามารถ เทคโนโลยีที่ใช้ และความซับซ้อน ความหลากหลายของปัญญาประดิษฐ์ทำให้เริ่มเกิดปัญหาเมื่อนำมาใช้งานในด้านต่างๆ เพราะแม้ตัวปัญญาประดิษฐ์เองเป็นเพียงโปรแกรมคอมพิวเตอร์หรือส่วนหนึ่งของโปรแกรมคอมพิวเตอร์ แต่เมื่อนำไปใช้กับเครื่องจักรต่างๆ ที่ปัจจุบันนับว่าเป็นเครื่องคอมพิวเตอร์ในตัวเสียแล้ว ย่อมนำไปใช้งานได้หลากหลายตามชนิดและประเภทของเครืองจักรนั้นๆ
การนำปัญญาประดิษฐ์ไปใช้ในพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ด้านต่างๆ สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และตัวปัญญาประดิษฐ์เองก็ซับซ้อนมากขึ้นตามลำดับอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดปัญหาต่างๆ และมีความเสี่ยงเกิดขึ้น ทั้งต่อผู้ประกอบกิจการด้วยกันเอง และระหว่างผู้ประกอบการกับผู้บริโภค แต่ยังไม่วิธีกำกับดูแลปัญญาประดิษฐ์เหล่านี้อย่างเป็นระบบและอย่างชัดเจน เพื่อดูแลและควบคุมปัญญาประดิษฐ์และปัญหาที่เกิดขึ้น และควบคุมดูแลความเสี่ยงไม่ให้สาธารณะเสียหายจากการใช้ปัญญาประดิฐ์ จึงจำเป็นต้องศึกษาแนวทางกำกับดูแลปัญญาประดิษฐ์เหล่านี้ และส่งเสริมเทคโนโลยีสมัยใหม่ในประเทศไทย
การกำกับดูแลที่เหมาะสมที่สุดในขณะนี้คือ การกำกับดูแลทั้งระบบ กล่าวคือ กำกับดูแลปัญญาประดิษฐ์ทุกชนิด ทุกประเภท ทุกการใช้งาน อย่างเป็นระบบ เพราะมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลที่ดีกว่าการกำกับดูแลเฉพาะปัญญาประดิษฐ์บางส่วน และประหยัดว่า อีกทั้งสามารถดูแลตั้งแต่จุดเริ่มต้นของปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งก็คือขั้นการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ ไปจนถึงหลังจากนำปัญญาประดิษฐ์ที่ผ่านการพัฒนาและทดสอบเรียบร้อยแล้วออกใช้งานเพื่อติดตามผลและปรับปรุงแก้ไข
การแก้ไขปรับปรุงอาจเริ่มจากใช้เครื่องมือทางกฎหมายที่มีอยู่ก่อนเท่าที่ทำได้ เพราะรวดเร็วกว่าการตรากฎหมายฉบับใหม่ทั้งฉบับ เพื่อกำกับดูแลบางเรื่องไปพลางก่อน จากนั้นจึงเริ่มวางระบบกำกับดูแลส่วนต่างๆ เพิ่มเติม รูปแบบกำกับดูแลที่เหมาะสมของประเทศไทยคือแบบกระจายอำนาจ เพราะมีขนาดเศรษฐกิจที่ไม่ใหญ่ และมีหน่วยงานที่กำกับดูแลแต่ละส่วนหรือแต่ละกิจการที่ปัญญาปรพดิษฐ์เข้าไปมีบทบาทอยู่แล้ว เพียงกำหนดเพิ่มเติมอำนาจหน้าที่กำกับดูแลปัญญาประดิษฐ์ที่เกี่ยวข้องกับส่วนหรือกิจการที่หน่วยงานต่างๆ ดูแลเท่านั้น ซึ่งอาจกำหนดให้ใช้ระบบใบอนุญาตที่สอดคล้องกับมาตรฐานสากลเพื่อควบคุมดูแลปัญญาประดิษฐ์ตามความเสี่ยง
ขั้นต่อไปคือ ตรากฎหมายเพื่อกำกับดูแลปัญญาประดิษฐ์โดยเฉพาะ มีเนื้อหาครอบคลุมเกี่ยวกับปัญญาประดิษฐ์ทั้งหมดตั้งแต่กำหนดนิยามศัพท์ที่เกี่ยวข้อง การแบ่งกลุ่มปัญญาประดิษฐ์ตามความเสี่ยงเพื่อกำหนดระดับความเข้มงวดที่จะกำกับดูแล มาตรการดูแลตั้งแต่ก่อนที่จะนำปัญญาประดิษฐ์มาใช้งาน ไปจนถึงขั้นผ่านการทดสอบสุดท้ายของสถาบันทดสอบเทคโนโลยีเพื่อเตรียมพร้อมนำไปใช้งาน โดยระดับความเข้มงวดขึ้นอยู่กับระดับความเสี่ยง หากปัญญาประดิษฐ์ใดมีความเสี่ยงสูงย่อมต้องกำกับดูแลอย่างเข้มงวดมาก และหลังจากนำปัญญาประดิษฐ์ไปใช้งานแล้วก็ต้องมีมาตรการกำกับดูแล ซึ่งความเข้มงวดขึ้นอยู่กับระดับความเสี่ยงของปัญญาประดิษฐ์เช่นเดียวกัน รวมถึงจัดตั้งศูนย์ทดสอบเทคโนโลยีเพื่อจำแนกปัญญาประดิษฐ์ตามความเสี่ยง นอกจากนี้ ยังต้องกำหนดเรื่องจัดตั้งองค์กรดูแลที่เกี่ยวข้อง และอำนาจหน้าที่ขององค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวกับปัญญาประดิษฐ์ รวมถึงมาตรการอื่นๆ ที่จำเป็น และกระบวนการดูแลที่ชัดเจน โดยอาจควบคุมดูแลร่วมกันระหว่างรัฐและเอกชน และแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายฉบับอื่นๆ ให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล และนอกจากมีบทบัญญัติควบคุมดูแลแล้ว ยังอาจเพิ่มบทบัญญัติในลักษณะส่งเสริมให้พัฒนาและใช้ปัญญาประดิษฐ์ด้วยก็ได้ หรืออาจทำเป็นคำแนะนำหรือคู่มือเกี่ยวกับปัญญาประดิษฐ์
นอกจากนี้ ยังต้องจัดต้ององค์กรเพิ่มเติม ได้แก่ องค์กรกลางที่ดูแลการแบ่งปันข้อมูล (Data Sharing) และองค์กรกำหนดนโยบายกลางร่วมกัน องค์กรดูแลการแบ่งปันข้อมูลมีหน้าที่ดูแลการแบ่งปันข้อมูลต่างๆ ที่ต้องใช้กับปัญญาประดิษฐ์ เพื่อลดข้อขัดแย้งและปกป้องข้อมูลต่างๆ โดยทำข้อตกลงแบ่งปันข้อมูล (Data Sharing Agreement) นอกจากนี้ ยังต้องจัดทำศูนย์ทดสอบเทคโนโลยี และศูนย์ทดสอบกฎหมายควบคู่กันไป
ส่วนองค์กรกำหนดนโยบายกลางมีอำนาจหน้าที่กำหนดนโยบายกลางเกี่ยวกับการกำกับดูแลของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยตั้งเป็นคณะกรรมการกลางร่วมกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐและเอกชนเพื่อให้มีลักษณะกำกับดูแลร่วมกัน โดยมีตัวแทนจากหน่วยงานที่ดูแลด้านเทคโนโลยี การศึกษา หรือวิทยาศาสตร์ และตัวแทนของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง รวมถึงเอกชนที่เป็นผู้ประกอบการและผู้บริโภค การดำเนินการของคณะกรรมการชุดนี้มีบทบาทสำคัญต่อการจัดทำศูนย์ทดสอบกฎหมายที่เกี่ยวข้อง(Regulatory Sandbox) เพื่อให้สอดคล้องกับการกำกับดูแลของหน่วยงานต่าง ๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องและประสานงานร่วมกับภาคเอกชนเพื่อการพัฒนาเทคโนโลยี และอาจตั้งอนุกรรมการเพื่อดูแลปัญญาประดิษฐ์ที่เกี่ยวข้องกับแต่ละด้านเพื่อความเหมาะสมต่อการกำกับดูแล
การควบคุมดูแลปัญญาประดิษฐ์อย่างเหมาะสม ควบคู่ไปกับการส่งเสริมและสนับสนุนให้พัฒนาและใช้งานปัญญาประดิษฐ์อย่างคุ้มค่าย่อมทำให้ประชาชนใช้ชีวิตอย่างสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น เศรษฐกิจเจริญรุ่งเรือง และลดปัญหาและความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิผล เพื่อให้สังคมดำเนินไปควบคู่กับการพัฒนาด้านเทคโนโลยีอย่างรวดเร็วได้อย่างไร้กังวล
THNIC Facebook Page
RECENT POST
- .th DNSSEC Status Report มกราคม 15, 2025
- ทีเอชนิค ร่วมกับ SET และ UASG เปิดอบรมสร้างเว็บไซต์สำหรับผู้ประกอบการไทย มกราคม 15, 2025
- ทีเอชนิค ต้อนรับนายกสมาคมผู้ดูแลเว็บไซต์และสื่อออนไลน์ไทย มกราคม 14, 2025
- พูดคุยกับ 3 ครูยุคใหม่ ผู้พลิกโฉมการเรียนรู้ด้วยเว็บไซต์ “.ไทย” เพื่อการศึกษาที่เข้าถึงง่าย มกราคม 2, 2025
- มูลนิธิทีเอชนิค รับสมัคร Junior Web Developer 1 ตำแหน่ง ธันวาคม 27, 2024