ทีเอชนิค DGA และ สกมช. จับมือเตือนคนไทยมีสติก่อนกดลิงก์ร่วมให้ความรู้ Short link กับความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์
มูลนิธิศูนย์สารสนเทศเครือข่ายไทย (ทีเอชนิค) ร่วมกับ สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) หรือ DGA และ สํานักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) ให้ความรู้เรื่อง “Short link สำคัญอย่างไร? กับความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์” ภายใต้การอบรมออนไลน์ NCSA CYBER SECURITY KNOWLEDGE SHARING 7/2567 ของสำนักวิชาการความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ สกมช. มีนายชยา ลิมจิตติ ที่ปรึกษามูลนิธิศูนย์สารสนเทศเครือข่ายไทย เป็นผู้ดำเนินรายการ
ทีเอชนิค ร่วมป้องกันภัยไซเบอร์ด้วย .th ทดลองให้บริการย่อลิงก์ฟรีสำหรับบุคคลทั่วไป
นายอนาวิล พงศบริพัตร ผู้ช่วยผู้อำนวยการ มูลนิธิศูนย์สารสนเทศเครือข่ายไทย (ทีเอชนิค) กล่าวว่าทีเอชนิคมีเป้าหมายที่จะสร้างความน่าเชื่อถือและความปลอดภัยในการใช้ Short link จึงร่วมมือกับหน่วยงานหลายภาคส่วนคือ ภาครัฐร่วมมือกับ DGA ในการพัฒนา Short link ให้หน่วยงานรัฐใช้ สำหรับหน่วยงานรัฐที่ยังไม่มีโดเมน .go.th สามารถจดโดเมนและขออีเมลได้ที่ thnic.co.th/gov จากนั้นนำโดเมนและอีเมลไปเปิดใช้บริการระบบ dg.th ได้ ในส่วนภาคการศึกษา ร่วมมือกับสำนักงานบริหารเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อพัฒนาการศึกษา พัฒนา Short link สำหรับหน่วยงานทางการศึกษาที่ใช้โดเมน .ac.th ดูรายละเอียดได้ที่ uni.net.th ในส่วนของผู้ประกอบการ ทีเอชนิคอยู่ในระหว่างดำเนินการร่วมกับสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย ซึ่งจะเปิดตัวบริการให้ทราบต่อไป
สำหรับบุคคลทั่วไป ทีเอชนิคได้เปิดระบบให้ทดลองสร้าง Short link ฟรีที่ links.thnic.co.th สามารถลงทะเบียนผู้ใช้เพื่อเข้าสู่ระบบและสร้าง Short link ได้ ซึ่งในช่วงทดลองนี้สามารถสร้าง Short link ได้ไม่เกิน 10 ลิงก์ต่อผู้ใช้
นอกจากนี้ ทีเอชนิคยังส่งเสริม การรองรับสากลและการใช้โดเมนภาษาท้องถิ่นในระบบอินเทอร์เน็ต (Universal Acceptance) โดยบริการย่อลิงก์สามารถใส่ลิงก์ปลายทางที่ใช้โดเมนภาษาไทยได้ นักพัฒนาที่สนใจพัฒนาระบบตนเองให้รองรับภาษาไทย สามารถติดต่อมาที่ทีเอชนิคได้ ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่: รู้จัก.ไทย หรือ uasg.tech ส่วนผู้ที่ต้องการทดลองใช้อีเมลภาษาไทย สามารถเข้าไปสมัครได้ที่เว็บไซต์: คน.ไทย
DGA เปิดให้บริการ Short link แล้ว
สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) หรือ DGA โดยนายวิจักขณ์ ซื่อวาจา ผู้อำนวยการฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ กล่าวว่า DGA ได้ร่วมมือกับ ทีเอชนิค สร้าง Short link ให้กับหน่วยงานรัฐเพื่อความปลอดภัยและน่าเชื่อถือ เนื่องจากที่ผ่านมาหน่วยงานรัฐบางแห่งใช้บริการฟรีที่พบในอินเทอร์เน็ตทั่วไปซึ่งอาจเกิดปัญหาข้อมูลรั่วไหล โดยเบื้องต้น DGA ได้เปิด dg.th เพื่อใช้กับ Short link ซึ่งระบบติดตั้งอยู่กับเซิร์ฟเวอร์ในประเทศไทยของสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ภายใต้ระบบของรัฐบาลทั้งหมด
ทั้งนี้ DGA ให้บริการสร้าง Short link และ QR Code แก่หน่วยงานรัฐไปพร้อมกัน โดยฟีเจอร์หลักสามารถดูเว็บไซต์ปลายทางได้ หรือจะเข้าสู่เว็บไซต์ได้ทันที อีกทั้งสามารถกำหนดวันเผยแพร่เริ่มต้นและสิ้นสุดได้
ปัจจุบัน DGA ได้ทำรายชื่อหน่วยงานรัฐที่ได้รับอนุญาต (whitelist) ให้ใช้งาน Short link ได้ ส่วนหน่วยงานรัฐอื่นที่มีอีเมลและโดเมนเอง และต้องการใช้บริการ Short link กับ DGA สามารถติดต่อขอเข้า whitelist ได้ที่ DGA Contact Center โทร. 0 2612 6060
Short link ภัยไซเบอร์ที่สร้างความเสียหายทั่วโลก
จากรายงานของนิตยสาร Word Economic Forum พบว่า ภัยไซเบอร์ติดอันดับท็อปเท็นมาเป็นเวลา 4 ปีแล้ว ปีล่าสุดมีมูลค่าความเสียหายสูงถึง 11.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ สำหรับประเทศไทยเว็บไซต์สำนักงานตำรวจแห่งชาติรายงานว่าปีที่แล้วมีคดีหลอกลวงกว่าแสนคดี มูลค่าความเสียหายนับหมื่นล้านบาท โดยคดีหลอกขายสินค้าและบริการเป็นอันดับหนึ่ง รองลงมาคือหลอกโอนเงินเพื่อทำงานหารายได้พิเศษ
พลตรี ธีรวุฒิ วิทยากรณ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ กล่าวว่าการหลอกลวงนั้นใช้ความรักโลภโกรธหลงกลัวซึ่งเป็นจุดอ่อนของมนุษย์เป็นเครื่องมือสร้าง Short link ขึ้นมาส่งผ่าน sms หรือ อีเมล ให้ผู้รับกดเข้าไปจนเกิดการสูญเสีย
Short link เป็นสิ่งที่มีประโยชน์ สามารถจำกัดตัวอักษรต่อข้อความได้ แก้ปัญหาลิงก์ขาดเมื่อมีการส่งผ่านลิงก์ที่ใช้ในการวิเคราะห์ติดตาม แต่มิจฉาชีพกลับนำไปใช้ในทางที่ผิด เช่น การหลอกลวงให้โอนเงิน การหลอกให้ดาวน์โหลด Malware ลงเครื่องคอมพิวเตอร์ การเปลี่ยนเป้าหมายจริงไปสู่เป้าหมายปลอม ดังนั้น สกมช. จึงให้คำแนะนำการใช้งาน Short link ที่เหมาะสมว่า การกดลิงก์จะต้องมีสติ พิจารณาก่อนว่าเป็นผู้ให้บริการที่น่าเชื่อถือ, ตรวจสอบลิงก์ปลายทางด้วยการคลิกขวาที่ลิงก์ และ
เลือก inspect option เพื่อดูแหล่งที่มาของลิงก์, การใช้บริการตรวจสอบที่มาของลิงก์ทางออนไลน์ เช่น Check Short URL รวมทั้งควรอัปเดทตซอฟท์แวร์สม่ำเสมอ ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ให้หลักในการตรวจสอบ ข้อความและลิงก์ว่าเป็นของมิจฉาชีพหรือไม่ คือให้ดูผู้ส่งอย่างละเอียด ดูพฤติกรรมที่ผิดปกติ ดูความสัมพันธ์ระหว่างผู้ส่งและผู้รับ ดูไวยากรณ์ที่มักจะผิด และดูลิงก์ที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ว่าถูกต้องหรือไม่
การใช้ Short link และ QR Code ของมิจฉาชีพเป็นภัยที่สร้างความเสียหายไปทั่วโลกและมีมูลค่าสูงอย่างยิ่ง การพิจารณา สแกน QR Code หรือ กด Short link จึงเป็นสิ่งที่ต้องพิจารณาอย่างละเอียดถี่ถ้วนเพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ ขณะเดียวกันหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนของไทย จะต้องเร่งสร้างแนวทางป้องกัน โดยสร้าง Short link ที่สามารถสืบหาแหล่งที่มาได้ด้วยโดเมน .th และ.ไทย เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงทางไซเบอร์ และบรรเทาทุกข์ให้กับประชาชน
THNIC Facebook Page
RECENT POST
- .th DNSSEC Status Report มกราคม 15, 2025
- ทีเอชนิค ร่วมกับ SET และ UASG เปิดอบรมสร้างเว็บไซต์สำหรับผู้ประกอบการไทย มกราคม 15, 2025
- ทีเอชนิค ต้อนรับนายกสมาคมผู้ดูแลเว็บไซต์และสื่อออนไลน์ไทย มกราคม 14, 2025
- พูดคุยกับ 3 ครูยุคใหม่ ผู้พลิกโฉมการเรียนรู้ด้วยเว็บไซต์ “.ไทย” เพื่อการศึกษาที่เข้าถึงง่าย มกราคม 2, 2025
- มูลนิธิทีเอชนิค รับสมัคร Junior Web Developer 1 ตำแหน่ง ธันวาคม 27, 2024